ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเสนอโรงเรียน-มหาวิทยาลัย ทำหลักสูตรโลกร้อน ป้องกันผลกระทบโดยด่วน ทั้งยังเสนอรัฐทำฉลากสินค้าคาร์บอนต่ำ คู่สินค้าฉลากเขียวให้ผู้บริโภคตัดสินใจ พร้อมวิงวอนทบทวนนโยบายโค่นยาง ปลูกปาล์ม หลังพบรากยางช่วยหน้าดินไม่ทลาย ด้านปลัด ก.ทรัพย์ขอความร่วมมือคนไทย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรักษาโลก เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง
ในวันสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.51 ที่ผ่านมานั้น ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมฟังวงเสวนา “ถึงเวลาที่เมืองไทยจะต้องก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” โดย ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเวทีเป็นคนแรกและกล่าวว่า หากวันนี้สังคมไทยยังไม่ทำอะไรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อไปเราจะอยู่กันอย่างลำบากมาก โดยเฉพาะการเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงทรัพยากรชายฝั่งที่ถูกทำลาย และการเกิดโรคใหม่ๆ ที่ร้ายแรง
ทั้งนี้ เพื่อการรับมือกับปัญหาอย่างยั่งยืน ควรมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาตั้งแต่วันนี้ เพราะหาไม่แล้ว 4 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลับมาล้าหลังอีกครั้ง ซ้ำรอยที่ 6 ปีที่แล้วที่ไม่มีการเตรียมพร้อมเลย ทำให้วันนี้ไทยต้องเจอกับปัญหา
ขณะเดียวกัน ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เสนอว่า นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีการจัดทำสินค้าฉลากเขียวแล้ว ต่อไปประเทศไทยควรกำหนดให้สินค้าต้องติดฉลากคาร์บอนด้วย โดยตัวฉลากจะบอกผู้บริโภคถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิต เพื่อให้เกิดการเลือกใช้ ทำให้สินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมล้มตายไปเอง
เขาเผยอีกว่า อยากให้ภาครัฐมีการทบทวนนโยบายการปลูกพืชพลังงานด้วย เพราะทราบมาว่ามีนโยบายโค่นป่ายางในภาคใต้เพื่อหลีกทางให้การปลูกปาล์มน้ำมัน แล้วส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทน ขณะที่ผลการศึกษาจากองค์การสวนยางพบว่า รากของยางป่ายึดหน้าดินไว้ไม่ให้พังทลาย เหมือนพื้นที่ที่แปรรูปเป็นนากุ้ง
“ผมไม่ทราบว่าถูกหรือไม่ เพราะการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจะมีผลกระทบประการใด และหากพื้นที่ปลูกเดิมไม่ยอมหลีกทางให้ อาจทำให้เกิดการแผ้วถางป่า และมีผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพตามมาหรือไม่” ศ.ดร.สนิทกล่าว
ต่อมา ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในหัวข้อ “ประเทศไทยกับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ว่า ปัจจุบันคนไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประมาณ 4.8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
แต่เพื่อลดสภาวะวิกฤติเมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสในอีก 30-40 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะต้องลดปริมาณดังกล่าวในอัตราคนละ 3.5 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 850 ต้น
ดร.ศักดิ์กล่าวอีกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจึงต้องการส่งเสริม ให้ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำโดยไว แม้ปัจจุบันไทยยังไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ทว่าก็เป็นการแสดงศักยภาพ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งหมด โดยการขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใส่ในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และการประหยัดพลังงานในชีวิตประจำวัน ที่พลอยเป็นอานิสงค์แก่ชนรุ่นหลังด้วย
สำหรับการเสวนาวิชาการทั้ง 2 หัวข้อมีขึ้นในงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 51 จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่าง 5-8 มิ.ย.51 ณ ห้องคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ อิมแพค เมืองทองธานี
Credit : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000066099
ดีครับ ช่วยๆกัน โลกจะได้สะอาด สดใส